krusunsanee


ตำนาน
ตำนาน 

  ความหมายของตำนาน คำว่า “ตำนาน”
        พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕ ได้ให้ความหมายไว้ว่า “เรื่องแสดงกิจการอันมีมาแล้วแต่ปางหลัง เรื่องราวนมนานที่เล่ากันสืบ ๆ มา เช่น ตำนานพุทธเจดีย์สยาม”
       ดังนั้น ตำนาน คือ นิยายหรือเรื่องเล่าที่เล่าสืบทอดกันมาเป็นเวลานาน จนหาต้นตอไม่ได้ และมีเนื้อหาเพื่ออธิบายที่มาของสิ่งต่าง ๆ หรือสถานที่ต่าง ๆ ที่คนในสมัยก่อนยังไม่สามารถเข้าใจได้ลักษณะการเล่าเรื่องเพื่อตอบคำถามที่คนไม่สามารถเข้าใจได้นี้เป็นลักษณะร่วมของมนุษย์ทุกชนชาติ เพราะมนุษย์มีปัญญา ย่อมต้องการรู้และต้องการคำอธิบายเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัว จึงเป็นส่วนที่ทำให้ตำนานเกิดขึ้นมา
         ประเภทของตำนาน ตำนานสามารถแบ่งประเภทตามแบบของนิทานได้ดังนี้
          1.ตำนานประเภทนิยายประจำท้องถิ่น (Legend) เป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับคตินิยม อย่างใดอย่างหนึ่งของคนในท้องถิ่น โดยมีเค้าของความจริงอยู่บ้าง เช่น ตัวบุคคล สถานที่ แม้ว่าในการดำเนินเรื่องจะใช้การเล่าที่แทรกเรื่องเหนือธรรมชาติลงไปบ้างก็ตาม ตำนานเหล่านี้ได้แก่
           1.1 ตำนานเกี่ยวกับปรากฏการณ์ธรรมชาติ ปรากฏการณ์ธรรมชาติเป็นสิ่งที่มนุษย์พบเห็นคุ้นเคย แต่มนุษย์ไม่สามารถหาคำตอบได้ว่าเกิดจากอะไร จึงมีผู้รู้แต่งเป็นเรื่องเล่าอธิบายที่มาของปรากฏการณ์ธรรมชาติเหล่านี้ออกมาเป็นรูปธรรม
           1.2 ตำนานเกี่ยวกับสถานที่ ด้วยมนุษย์มีสมองจึงพยายามแสวงหาเหตุผลและมโนภาพเพื่ออธิบายที่มาของสิ่งต่าง ๆ จึงเกิดเป็นเรื่องเล่าตำนานเกี่ยวกับสถานที่และภูมิประเทศรอบ ๆ ตัว เรื่องเล่าเหล่านี้ได้เล่าสืบทอดกันมาหลายชั่วคน จึงมีการเสริมเรื่องอื่น ๆ ตามลักษณะความเชื่อและความนิยมของคนในท้องถิ่นเข้าไปจนคนปัจจุบันอาจถือว่าเป็นเรื่องไร้สาระ หากทว่าตำนานเหล่านี้ก็มีส่วนช่วยให้เราเข้าใจความคิดและภูมิปัญญาของบรรพบุรุษของเราได้เป็นอย่างดี
          1.3 ตำนานเกี่ยวกับบุคคล มักเป็นเรื่องที่กล่าวถึงคุณธรรม ความฉลาด ความสามารถ ความกล้าหาญของบุคคล ซึ่งจะมีตัวตนจริง มีสถานที่ และกำหนดระยะเวลาของเหตุการณ์ที่แน่นอน แม้บางครั้งจะมีเรื่องเหนือธรรมชาติอยู่บ้าง ก็เกิดจากการเล่าตกแต่งเสริมขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ฟังยังเชื่อว่าเรื่องดังกล่าวมีเค้าความจริงอยู่
         1.4 ตำนานประเภทเทพนิยาย (Myth) กุหลาบ มัลลิกะมาส ได้ให้ความหมายไว้ว่า “คำว่า เทพนิยาย ซึ่งแปลมาจากคำว่า Myth นี้ จะหมายถึงนิทานที่เทวดา นางฟ้าเป็นตัวบุคคลในเรื่องนิทานนั้น เช่น เรื่องพระอินทร์ หรือที่เป็นแต่เพียงกึ่งเทวดา อย่างเช่น เจ้าป่า เจ้าเขา เจ้าที่ เจ้าแม่ต่าง ๆ เทพนิยายเหล่านี้มักมีส่วนสัมพันธ์กับความเชื่อทางศาสนาและพิธีกรรมต่าง ๆ ที่มนุษย์ปฏิบัติในทางศาสนา” ตัวบุคคลในเรื่องอาจมีลักษณะคล้ายคลึงกับตัวเอกในตำนานที่เกี่ยวกับวีรบุรุษ แต่เทพนิยายจะต้องเกี่ยวข้องกับศาสนา ซึ่งอาจจะเป็นศาสนาดั้งเดิมของมนุษย์ก็ได้ ตำนานประเภทนี้ได้แก่ เรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับพระอินทร์ ท้าวมหาสงกรานต์ เมขลา – รามสูร เป็นต้น

         ลักษณะการเล่าตำนาน
           การเล่าตำนานจะเรียบเรียงเรื่องราวตามลำดับเหตุการณ์ เพื่อให้ผู้อ่านฟังเข้าใจเรื่องได้ง่าย และจะบรรยายอย่างละเอียดถึงความคิดของตัวละครโดยผู้อ่านไม่ต้องตีความเองเลย ภาษาที่ใช้จะใช้ถ้อยคำง่าย ๆ ในท้องถิ่น ถ้ามีคำศัพท์ก็เป็นคำศัพท์ที่ชาวบ้านเข้าใจได้ เช่น ถวาย กริ้ว อธิษฐาน ฯลฯ และเนื้อความจะแทรกเรื่องอภินิหารเพื่อแสดงบุญญาธิการของตัวละคร   การเล่าจะเน้นการอธิบายที่มาของสิ่งต่าง ๆ หรือสถานที่ต่าง ๆ ที่คนในสมัยก่อนยังไม่สามารถเข้าใจได้  ตำนานแต่ก่อนสืบทอดกันด้วยปาก ปัจจุบันมีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว

      ความสัมพันธ์ระหว่างตำนานกับการดำรงชีวิต
       1. ตำนานเป็นการอธิบายสภาพการดำรงชีวิตของกลุ่มชนในท้องถิ่น ว่าสังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรมและล่าสัตว์ จึงมีตำนานหลายเรื่องที่มีเรื่องเกี่ยวกับการล่าช้าง การยิงกระกรอกมาเป็นอาหาร การปลูกพืชพื้นบ้าน เช่น น้ำเต้า เครื่องมือที่ใช้ในการประกอบอาชีพและการผลิตอาหารก็เป็นเครื่องมือทำจากธรรมชาติ เช่น ครก สาก ฯลฯ เป็นลักษณะสังคมแบพึ่งพิงตนเองกับธรรมชาติมากกว่าเครื่องจักรกล
      2. ตำนานสะท้อนบทบาทของผู้หญิงเป็นผู้ตาม ผู้ชายเป็นผู้นำ ผู้หญิงมีหน้าที่หุงหาอาหาร ดูแลที่อยู่อาศัย ตลอดจนเครื่องนุ่งห่มของสมาชิกในครอบครัว ในตำนานจึงมักจะมีตัวเอกเป็นผู้ชาย ยกเว้นเรื่องจามเทวีวงศ์ที่ได้ขึ้นครองนครหริภุญชัย ที่สุเทวฤาษีสร้างขึ้นตามพุทธทำนาย ซึ่งตำนานเรื่องนี้ แม้จะมีตัวเอกเป็นผู้หญิง แต่บทบาทก็ต่างจากตำนานที่มีตัวเอกเป็นผู้ชาย เพราะนางจามเทวีไม่ได้แสดงความกลาหาญหรือความสามารถในการรบแต่จะแสดงความสามารถในการใช้เล่ห์เหลี่ยมและมารยาหญิง ดังนั้น บทบาทผู้นำก็ยังคงเป็นบทบาทเด่นของผู้ชายนั่นเอง
      3. ตำนานสะท้อนประวัติศาสตร์การต่อสู้ของเผ่าพันธุ์มนุษย์ว่า กว่าจะรวมกันเป็นประเทศชาติในปัจจุบันต้องรบพุ่งเสียเลือดเนื้อมามากมาย
      4.ตำนานสะท้อนความเชื่อเรื่องกรรม และการตั้งสัตย์อธิษฐาน ในตำนานส่วนใหญ่จะแสดงให้เห็นว่า ทำดีย่อมได้ผลดี ทำชั่วย่อมได้ผลชั่ว และหากตั้งสัตว์อธิษฐานใดก็จะได้สมความปรารถนา
      5. ตำนานเป็นการอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตามความเชื่อ เช่น น้ำท่วมโลก แผ่นดินถล่ม
      6. ตำนานให้ข้อคิดแก่คนในเรื่องการทำความดี
      7.ตำนานสร้างความภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตน เพราะเมื่อทราบเรื่องราวความเป็นมาของท้องถิ่นที่กว่าจะเป็นชนชาติเช่นทุกวันนี้ บรรพบุรุษของเราต้องต่อสู้กับความยากลำบากต่าง ๆ อย่างมากมายทำให้ผู้ศึกษาเกิดความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น และมีกำลังใจที่จะต่อสู้พัฒนาสังคมของตนต่อไป
        “ตำนานเป็นเรื่องที่ถ้าอ่านหรือฟังอย่างผิวเผินจะเป็นเรื่องไม่น่าเชื่อถือ แต่ในความไม่น่าเชื่อถือนั้น หากศึกษาอย่างพินิจจะเห็นร่องรอยทางประวัติศาสตร์ที่น่าภาคภูมิใจของชนชาติและท้องถิ่นได้อย่างดี”

 แหล่งที่มา http://www.gotoknow.org/blogs/posts/295967สืบค้นเมื่อ11 พ.ย.2554

โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สตรีวิทยา พุทธมณฑล
70 หมู่ 2 แขวงทวีวัฒนา เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ 10170
โทรศัพท์ 0 2441 3593 E-Mail:satriwit3@gmail.com


Generated 0.382753 sec.