krusunsanee
ปริศนาคำทาย
ปริศนาคำทาย
ความหมาย ที่มา ลักษณะของปริศนาคำทาย
ปริศนาคำทาย คือถ้อยคำที่เป็นคำถาม พูดขึ้นเพื่อใช้สำหรับทาย ทดสอบความรู้ ความรอบคอบ มักใช้ถ้อยคำคล้องจอง ปริศนาคำทาย เป็นทั้งวรรณกรรมมุขปาฐะและไม่ใช่มุขปาฐะ เช่นปริศนา ท่าทาง ปริศนาอักษรไขว้ ปริศนาภาพ นิทานปริศนา เป็นต้น
สมัยโบราณนิยมเล่นปริศนาคำทายหลังเวลาอาหารเย็นหรือตอนหัวค่ำ หรือเล่นเมื่อมีคนมาชุมนุมกัน เช่น งานบวชนาค โกนจุก ตรุษสงกรานต์ คนไทยนิยมเล่นปริศนาคำทายทุกท้องถิ่น
ลักษณะการเล่น ใช้เล่นตั้งแต่สองคนขึ้นไป ไม่จำกัดเวลาและสถานที่ การถามให้ตอบหาก ผู้ตอบตอบไม่ได้ จะมีการบอกใบ้ หากใบ้แล้วยังตอบไม่ได้ ถ้าต้องการทราบคำตอบต้องยอมแพ้ในการยอมจะมีกติกาให้ปฏิบัติตาม เช่น เขกเข่า ให้ดื่มน้ำหรือกินอาหารจนอิ่ม ยอมเป็นทาส ซึ่งผู้ยอมแพ้ถือว่าเป็นการเสียหน้า ทั้งนี้เป็นการเน้นให้คิด ให้ใช้สติปัญญา จะไม่ยอมง่าย ๆ จึงถือว่าเป็นวรรณกรรมที่ส่งเสริมการใช้ความคิด สติปัญญา
ปริศนาคำทาย
ภาคกลางขึ้นต้นด้วย อะไรเอ่ย
ภาคเหนือขึ้นต้นด้วย อะหยังหวา อันหยังเอ๊าะ
ภาคอีสานขึ้นต้นด้วย แม่นหยัง อิหยัง
ภาคใต้ขึ้นต้นด้วย ไอ้ไหรหา ไอ้ไหรเหอ การั่ย ไหโฉ้
ที่มา ปริศนาคำทาย มีที่มาจากสิ่งต่าง ๆ ดังนี้
1. มาจากสภาพแวดล้อมใกล้ตัว เช่น
- อะไรเอ่ย ก้อนสี่เหลี่ยมน้ำเต็มเปี่ยม ไม่มีปลา ? (น้ำแข็ง)
- อะไรเอ่ย คิดไม่ออก เอานิ้วตอกก็คิดได้ ? (เครื่องคิดเลข)
2. มาจากธรรมชาติ
- ไอ้ไหรหา เช้ามาเย็นกลับ (ดวงอาทิตย์)
- อะไรเอ่ย มาจากเมืองแขก ตีไม่แตก ฟันไม่เข้า (เงา)
3. มาจากการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ เช่น
- ต้นเท่านิ้วก้อย พระนั่งห้าร้อยไม่หัก (พริกขี้หนู)
- ยามน้อยนุ่งเตี่ยวเขียว เฒ่ามานุ่งเตี่ยวแดง (พริก)
- เมื่อเด็กนุ่งผ้า โตขึ้นมาแก้เปลือย (หน่อไม้)
4. มาจากความคิดเปรียบเทียบ
- อะไรเอ่ยสูงเทียมฟ้าต่ำกว่าหญ้านิดเดียว (ภูเขา)
- อะไรเอ่ย ยิ่งต่อยิ่งสั้น ยิ่งบั่นยิ่งยาว (บุหรี่จุดไฟ , ถนน)
5. มาจากเครื่องมือในการประกอบอาชีพ เช่น
- หัวสองหัว ตั๋วมีตั๋วเดียว (ไม้คานพร้อมสาแหรก 2 ข้าง)
- ตัวอะไรหางยาวเกือบวา กินพสุธาเป็นอาจิณ(จอบ)
ลักษณะของปริศนาคำทาย
1. มักใช้คำคล้องจองเพื่อจดจำง่าย แสดงความเป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอน ของคนไทย เช่น
- ต้นเท่าขา ใบวาเดียว (ต้นกล้วย)
- ต้นเท่าครก ใบปรกดิน (ตะไคร้)
2. มักใช้การเปรียบเทียบเพื่อให้คนตอบได้ นึกภาพสิ่งนั้นได้ เช่น
- ฤดูแล้งเข้าถ้ำ ฤดูน้ำเที่ยวจร ไว้ผมเหมือนมอญ นามกรว่ากระไร?
- อะไรเอ่ยหน้าดำ ฟันขาว เหมือนชาวนิโกร ตะโก้ก็ไม่ใช่ (ขนมเปียกปูน)
3. มักเป็นข้อความทำนองการใช้จิตวิทยาจูงใจให้คนตอบ
- ต้นสามเหลี่ยม ใบเทียมดอก ใครทายออก ได้เมียงาม (กก)
- ยิบ ๆ เหมือนไข่ปูนา ใครไม่มีปัญญา ไขไม่ออกเอย (ตัวหนังสือ)
4. มักใช้ข้อความที่มีความหมายเป็นสองแง่สองมุมเหมือนอนาจาร แต่เรื่องที่ทายไม่ใช่เรื่องหยาบโลน เป็นเพียงการเพิ่มความสนุกสนานของ ผู้ใหญ่ที่มีอารมณ์ขันในเรื่องเพศของคนไทย นับเป็นความเฉลียวฉลาด ของการคิด เช่น
- อะไรเอ่ย นารีมีรู พลอยสีชมพู อยู่ในรูนารี (ต่างหู)
- อะไรเอ่ย เปิดผ้าเห็นขน แกะขนเห็นเม็ด แกะเม็ดเห็นรู (ข้าวโพด)
คุณค่าของปริศนาคำทาย
อาจกล่าวได้ว่าไม่เพียงแต่ให้ความสนุกสนานแก่ผู้เล่นเท่านั้น หากยังมี คุณค่าอื่นๆ อีกด้วยดังนี้
1. คุณค่าด้านความบันเทิง การเล่นปริศนาเป็นการผ่อนคลายความเครียดเพราะ การที่ผู้ทายได้คิดตีความปริศนา ทำให้รู้สึกสนุกสนานเพลิดเพลิน และตื่นเต้น ที่จะได้รับคำตอบว่าถูกหรือผิด โดยเฉพาะคำปริศนาที่มีลักษณะชวนให้คิด ตีความได้สองแง่สองง่าม หรือตลกโปกฮา
2. คุณค่าด้านความวัฒนธรรมประเพณี โดยสะท้อนให้เห็นสภาพสังคมและ วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ในแต่ละยุคแต่ละสมัย มีทั้งที่เกี่ยวกับอาหารการกิน สิ่งของเครื่องใช้ ศาสนา การละเล่นต่างๆ เช่น
- เข้าเลิ้กเข้าบ่นัก เข้านักเข้าบ่เลิ้ก (เข้าลึกข้าวไม่มาก ข้าวมากเข้าไม่ลึก) = ข้าวในกล่องข้าว แสดงให้เห็นวัฒนธรรมการกินข้าวเหนียวเป็นอาหารหลักของคนภาคเหนือ
- มาจากเมืองเจ๊ก ตัวเล็กเสียงดัง = ประทัด หรือ มาจากอังกฤษ ไม่มีชีวิตแต่พูดได้ = วิทยุ แสดงว่าในสมัยนั้นมีการติดต่อสัมพันธ์กับต่างประเทศ จึงมีการนำสินค้า ข้าวของ เครื่องใช้ต่างๆ เหล่านี้มาใช้ในบ้านเรา
3. คุณค่าด้านภาษา ปริศนาคำทายเป็นคำบอกเล่าสืบต่อๆ กันมา จึงเท่ากับช่วย อนุรักษ์ ถ้อยคำภาษาของแต่ละท้องถิ่นได้อีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ยังเป็นการ ฝึกให้ผู้เล่นรู้จักใช้คำเพื่อผูกประโยค สำนวน วลี สื่อความหมาย ความรู้สึก อารมณ์และภาพพจน์ เช่น
หัวเป็นหนาม ถามบ่ปาก บ่เคี้ยวหมาก ปากก็แดง = พระพุทธรูป
นกบินอยู่ในอากาศ หัวมันอยู่ที่ไหน = หัวมันอยู่ในดิน
4. คุณค่าด้านการศึกษาอบรม การเล่นปริศนาคำทาย ช่วยฝึกเชาวน์ปัญญา ฝึกให้เป็นคนช่าง สังเกตจดจำสิ่งแวดล้อมรอบตัว ฝึกให้เป็นคนช่างคิด และแก้ปัญหา หากเป็นปริศนาที่สอดแทรกคำสอน และความเชื่อที่ดีงาม ก็จะช่วยกล่อมจิตใจผู้เล่นได้โดยไม่รู้สึกตัว เช่น
ดำสะอาด ขาวสกปรก = กระดานดำ
เมื่อเด็กนุ่งผ้าขาว เมื่อสาวนุ่งผ้าเขียว แก่ทีเดียวนุ่งผ้าแดง = พริก
แหล่งที่มาhttp://www.sk.ac.th/lg/thai/thai_default/web2/thai/QUEST1.HTMสืบค้นเมื่อ 15 พ.ย.2554 แหล่งที่มา http://www.sri.cmu.ac.th/~elanna/lannachild/scripts/lullaby/quiz_lullaby.htmlสืบค้นเมื่อ 15 พ.ย.2554
โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สตรีวิทยา พุทธมณฑล
70 หมู่ 2 แขวงทวีวัฒนา เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ 10170
โทรศัพท์ 0 2441 3593 E-Mail:satriwit3@gmail.com
Generated 0.005303 sec.