krusunsanee


ภูมิปัญญาในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน<
ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนาธรรมต่าง ๆ

  ได้มีการกล่าวถึง ขบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมไทยแทรกไว้ในเนื้อเรื่อง นับตั้งแต่การเกิดจนกระทั่งตายเลยทีเดียว

    ประเพณีบวชเณร
   
                “อยากจะเป็นทหารชาญชัย    ให้เหมือนท่านขุนไกรที่เป็นผี
                 จึงอ้อนวอนมารดาได้ปราณี    ลูกนี้จะใคร่รู้วิชาการ
                 พระสงฆ์องค์ใดวิชาดี            แม่จงพาลูกนี้ไปฝากท่าน
                 ให้เป็นอุปัชฌย์อาจารย์         อธิฐานบวชลูกเป็นเณรไว้”

         สมัยก่อนนั้นไม่มีโรงเรียน พ่อแม่จึงมักพาลูกชายไปบวชเรียน เพื่อฝากให้พระสั่งสอนวิชาการต่าง ๆ และอบรมศีลธรรม เพราะถือกันว่าวัดเป็นแหล่งรวมวิชาความรู้ โดยมีพระภิกษุเป็นผู้สอน วิชาที่เรียนก็มี วิชาล่องหนหายตัว อยู่ยงคงกระพัน คาถาอาคมต่าง ๆ ปลุกผีและตำรับพิชัยสงคราม เป็นต้น

      ประเพณีการทำศพ

                      “ยกศพใส่หีบพระราชทาน          เครื่องอานแต่งตั้งเป็นจังหวะ
                       ปี่ชวาร่ำร้องกลองชนะ              นิมนต์พระให้นำพระธรรมไป
                       พลายชุมพลนุ่งขาวใส่ลอมพอก    โปรยข้าวตอกออกหน้าหาช้าไม่
                       พวกพ้องพี่น้องก็ร่ำไร                นุ่งขาวตามไปล้วนผู้ดี”

          การแห่นั้น จะมีเครื่องดนตรีประโคม คือ ปี่ชวาและกลองชนะ มีพระสวดนำหน้าศพ มีการโปรยข้าวตอกไปตลอดทาง กล่าวกันว่าการโปรยข้าวตอก คือ ปริศนาธรรม ว่าข้างตอกนั้นไม่อาจงอกเป็นต้นข้าวได้อีก คนที่ตายไปแล้วก็ไม่อาจฟื้นขึ้นได้อีกเช่นเดียวกัน ส่วนพวกญาติพี่น้องก็สวมเสื้อผ้าสีขาวเดินตามไป

         ประเพณีการเทศน์มหาชาติ

                      “อยู่มาปีระกาสัปตศก                  ทายกในเมืองสุพรรณนั่น
                        ถึงเดือนสิบจวบสารทยังขาดวัน    คิดกันจะมีเทศน์ด้วยศรัทธา
                        พระมหาชาติทั้งสิบสามกัณฑ์       วัดป่าเลไลยนั้นวันพระหน้า
                        ตาปะขาวเฒ่าแก่แซ่กันมา           พร้อมหน้านั่งปรึกษาที่วัดนั้น”

        การเทศน์มหาชาติถือว่าเป็นงานทำบุญประจำปีที่สำคัญมาก เรื่องที่จะใช้เทศน์ก็คือเรื่อง พระเวสสันดรชาดก ซึ่งมีทั้งหมด ๑๓ กัณฑ์ ผู้ที่รับเป็นเจ้าของกัณฑ์แต่ละกัณฑ์ จะต้องจัดเตรียมเครื่องบูชากัณฑ์เทศน์ให้เข้ากับกัณฑ์ของตนด้วย ซึ่งมักจะเป็นผลไม้จำพวกกล้วย ส้ม มะพร้าวอ่อน ตลอดจนของแห้งต่าง ๆ และอ้อย เป็นต้น



        ความเชื่อทางโชคลาง   
 
          คนไทยแต่โบราณมาแล้วเชื่อกันว่า เหตุการณ์บางสิ่งบางอย่างที่เกิดขึ้น เป็นลางบอกให้รู้อนาคตได้ ซึ่งในเรื่องขุนช้างขุนแผนนี้ เมื่อบุคคลในเรื่องจะต้องประสบเคราะห์กรรม ก็มักจะมีลางบอกเหตุล่วงหน้าเสมอ เช่น

                    “จับไม้เท้าก้าวย่างขยับกาย        เห็นจิ้งจกตกตายลงตรงหน้า
                      นกแสกแถบเสียดศีรษะมา         หลวงตานิ่งขึงตะลึงคิด
                      เอ๊ะอย่างไรท่าทางเป็นลางร้าย   ระงับกายกลับนั่งลงตั้งจิต
                      หลับตาร่ายคาถาแก้นิมิต           ขยับยืนยักทิศไปอุดร”

          เมื่อเถรขวาดจะเดินทางไปแก้แค้นพลายชุมพล ก็มีลางร้ายคือ จิ้งจกตกลงมาตายตรงหน้า และนกแสกบินเฉียดหัวไป แต่เถรขวาดก็ยังไม่ยอมเลิกความคิด ในที่สุดตนเองก็ต้องตาย
               
                    “เงื้อดาบจะฟาดให้ขาดกลาง         พอจิ้งจกทักขวางไม่ห่างที่
                     เงื้อมดอดใจไม่ฆ่าตี                   เคราะห์ดีแล้วมึงจะรอดตัว”

          คนโบราณถือว่า จิ้งจกทักเป็นลางบอกเหตุที่ไม่ดี เมื่อจะลงมือกระทำสิ่งใด ถ้ามีเสียงจิ้งจกร้องก็มักจะหยุดกระทำ เช่นเดียวกับขุนแผนที่เงื้อดาบจะฟันขุนช้างกับนางวันทองอยู่แล้ว พอได้ยินเสียงจิ้งจกร้องก็หยุดทันที

                   “เมียยกมือไหว้แลไปดู                 ไม่เห็นหัวผัวอยู่แค่บ่า
                     ตกใจวิ่งไปแล้วโศกา                 พ่อฟังเมียว่าอย่าเพ่อไป”

           ขุนเพชรอินทราจะไปตามจับตัวขุนแผนซึ่งลักพานางวันทองไป ก็มีลางร้ายคือ ภรรยามองเห็นว่าขุนเพชรอินทราไม่มีหัว ซึ่งปรากฏว่าไปถูกขุนแผนฆ่าตายในป่านั่นเอง

     สำนวนโวหาร และคติสอนใจ
           
          จากเรื่อง นางพิมพิลาไลยเตือนพลายแก้ว

               “อดข้าวดอกนะเจ้าชีวาวาย       ไม่ตายดอกเพราะอดเสน่หา”

          นางสายทองพูดกับพลายแก้ว

                “อุปมาเหมือนงาระคนถั่ว         ประดังไปใส่คั่วกระเบื้องนั่น
                 งาร้อนหรือจะผ่อนให้ถั่วทัน      พอถั่วสุกก็จะอันตรายงา”

        พลายงามพุดกับนางศรีประจันก่อนจะจากไปทำสงคราม
               
                 “อันมนุษย์หาสุดแก่ใครไม่        มันกลับกลอกนอกในเป็นหนักหนา
                  ถึงจะอามทองคำมาเจรจา       แม่อย่าหลงไปด้วยพลอยอวยเออ”

        พระเจ้าเชียงอินทร์รำพึงเมื่อแพ้สงคราม

                 “อันชาติเสือถึงจะตายายก็อยู่      ให้ใครดูรู้ชาติว่าอาจหาญ
                  ชาติกษัตริย์ถึงจะป่นจนวายปราณ มิให้พานชื่อชั่วว่ากลัวใคร”

        นางพิมพิลาไลยพูดกับสายทอง

                  “ถ้ารูปชั่วตัวเป็นมะเร็งเรื้อน        ไม่เทียบเพื่อนเห็นจะจนซึ่งคนรอ
                   ถ้ารูปดีมีเงินเขาชมปรอ           ไม่พักท้อเลยที่ชายจะหมายตาม
                   อดเปรี้ยวกินหวานตระการใจ      ลูกไม้หรือจะสุกไปก่อนห่าม
                   มีแต่แป้งแต่งนวลไว้ให้งาม        ร้อนใจอะไรจะถามทุกเวลา”


        อารมณ์ขันของกวี

            ในเรื่องขุนช้างขุนแผน มีหลายตอนด้วยกันที่บรรยายเหตุการณ์หรือพูดถึงกิริยาอาการของตัวละครในแง่ตลกขบขัน ซึ่งแสดงถึงอารมณ์ขันของกวีแต่ละท่าน จึงทำให้เรื่องราวสนุกสนานยิ่งขึ้น เช่น ตอนที่ขุนไกรเกณฑ์ไพร่พลให้ช่วยกันทำคอกควาย

                 “ฝนตกห่าใหญ่ในดง                 เดินหลงล้มกลิ้งอยู่ตัวสั่น
                  บ้านซุกซ่อนเข้าไปในไพรวัน       จนสายัณห์หยุดงานสำราญใจ
                  บ้างเก็บผักหักฟืนบ้างยืนเยี่ยว     บ้างก็เที่ยวค้นคว้าหาเป็ดไก่
                  บ้างหุงข้าวนอนหลับกับเตาไฟ     บ้างเหื่อไหลเต็มอ่อนลงนอนกรน”
             (เหื่อ หมายถึง เหงื่อ)

        สรุปข้อมูลจาก โรงเรียนปากท่อพิทยาคม ขอบคุณคะ

โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สตรีวิทยา พุทธมณฑล
70 หมู่ 2 แขวงทวีวัฒนา เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ 10170
โทรศัพท์ 0 2441 3593 E-Mail:satriwit3@gmail.com


Generated 0.038504 sec.