KruWannaporn Article


มองกลับมุม เมื่อสังเกตโลกบนดวงจันทร์

มองกลับมุม เมื่อสังเกตโลกบนดวงจันทร์ 

ยูจีน เอ. เซอร์นัน (Eugene A. Cernan) นักบินอวกาศคนสุดท้ายที่เหยียบลงบนดวงจันทร์ ในภารกิจอะพอลโล 17 กับภาพถ่ายที่มีฉากหลังเป็นดาวเคราะห์ที่ชื่อว่าโลก ด้วยระยะทางกว่า 4 แสนกิโลเมตร เป็นเพียงภาพถ่ายเพียงไม่กี่ภาพที่มีทั้งดาวเคราะห์ที่เราอาศัยอยู่ถ่ายคู่กับมนุษย์บนโลก ที่ถ่ายภาพจากดาวดวงอื่น

ภาพ 1 ภาพถ่ายยูจีน เอ. เซอร์นัน ผู้บัญชาการของยานอะพอลโล 17

ยืนถ่ายภาพคู่กับธงชาติอเมริกันและมีโลกของเราเป็นฉากหลัง เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2515

 

        ดวงจันทร์ เป็นดาวบริวารเพียงดวงเดียวของโลกเรา เป็นวัตถุที่มีผลต่อการดำเนินชีวิตไม่ว่าจะน้ำขึ้นน้ำลง หรือแม้กระทั่งวันสำคัญทางศาสนา เมื่อเรามองดวงจันทร์จากโลก เราจะเห็นดวงจันทร์เพียงด้านเดียวเสมอ ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน เนื่องจากแรงไทดัลทำให้การหมุนรอบตัวเองของดวงจันทร์ถูกล็อกจนมีคาบเท่ากับคาบการโคจรรอบโลก ในทางกลับกันหากมองโลกจากบนดวงจันทร์จะเป็นอย่างไร จนกระทั่งเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2552 นาซาได้ปล่อยยาน Lunar Reconnaissance Orbiter ( LRO ) และ Lunar CRater Observation and Sensing Satellite (LCROSS) จากฐานยิงที่ 41 ด้วยจรวดแอตลาส 5 (Atlas V) มีภารกิจหลักคือการทำแผนที่ดวงจันทร์ความละเอียดสูง และเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ในขณะที่ยาน LRO โคจรเหนือพื้นผิวดวงจันทร์ที่ความสูงประมาณ 134 กิโลเมตร ด้วยความเร็ว 5,760 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก็ได้ถ่ายภาพโลกที่กำลังขึ้นเหนือขอบฟ้าของดวงจันทร์เอาไว้ 

 

ภาพ 2 ภาพถ่ายโลกของเราที่กำลังขึ้นเหนือขอบฟ้าของดวงจันทร์ โดย 

Lunar Reconnaissance Orbiter ของนาซา ถ่ายเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2552

 

        หากย้อนกลับไปที่ภารกิจอะพอลโล 17 กับภาพถ่ายที่เห็นโลกเป็นฉากหลังนั้น ตำแหน่งที่ยานอะพอลโล 17 ลงจอดคือพื้นที่สูงทอรัส-ลิทโทรฟ (Taurus-Littrow highlands) ในช่วงค่ำของวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2515 หลังจากลงจอดได้ลงสำรวจครั้งแรก เมื่อเวลา 01:13 น. ของวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2515 ตามเวลามาตรฐานสากล จากข้อมูลเหล่านี้จึงสามารถตรวจสอบมุมจำลองของท้องฟ้าบนดวงจันทร์ จะเห็นว่าโลกมีขนาดปรากฏประมาณ 2 องศา และอยู่ใกล้กับดาวเรกูลัส (ในกลุ่มดาวสิงโต) อยู่สูงขึ้นมาจากขอบฟ้าประมาณ 45 องศา ทางตะวันตกเฉียงใต้ และมีค่าความสว่างปรากฏประมาณ -15 แต่เนื่องแสงจ้าจากดวงอาทิตย์อาจจะทำให้มองไม่เห็นดาวพื้นหลังมากนัก ส่วนดวงอาทิตย์อยู่ทางทิศตะวันออกมีมุมเงยประมาณ 16 องศา ในกลุ่มดาวคนแบกงู และเมื่อดูจากภาพแรกนั้น ทำให้รู้ว่า ยูจีน เอ. เซอร์นัน หันหน้าไปทางทิศเหนือขณะถ่ายภาพ

 

ภาพ 3 ภาพจำลองเวลาและสถานที่ลงจอด Apollo 17

 

        จากวันสุดท้ายของภารกิจอะพอลโล 17 จนถึงวันนี้ ผ่านมา 46 ปี มีโครงการอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโครงการลูนา (Luna) จากประเทศโซเวียต-รัสเซีย โครงการฉางเอ๋อ (Chang’e) จากประเทศจีน และโครงการอื่นๆ ที่ยังคงสำรวจดวงจันทร์กันอยู่ เพื่อหวังว่าบนดวงจันทร์จะยังมีสิ่งที่เราไม่เคยค้นพบต่อไป ในช่วงนี้เประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวกันแล้ว วันไหนอากาศดี ท้องฟ้าดี ลองสังเกตดวงจันทร์กันเผื่อจะพบความสวยงามที่ซ่อนอยู่ในนั้น

 

 

เรียบเรียงโดย

นายอนันต์พล สุดทรัพย์

เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ นครราชสีมา สดร.

 

อ้างอิง

https://www.skyandtelescope.com/astronomy-blogs/explore-night-bob-king/observing-earth-from-the-moon/

https://www.nasa.gov/image-feature/goddard/lro-earthrise-2015

https://www.nasa.gov/mission_pages/LRO/overview/index.html

อ้างอิงภาพ

1. https://www.nasa.gov/mission_pages/apollo/40th/images/apollo_image_22.html

2. https://www.nasa.gov/mission_pages/LRO/images/index.html

3. Program Stellarium



รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

Size : 39.68 KBs
Upload : 2019-10-10 13:18:38
ติชม

กำลังแสดงหน้า 1/0
<<
1
>>

ต้องการให้คะแนนบทความนี้่ ?

0
คะแนนโหวด
สร้างโดย :


KruWannaporn
รายละเอียด Share
สถานะ : ผู้ใช้ลงทะเบียน
วิทยาศาสตร์


โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สตรีวิทยา พุทธมณฑล
70 หมู่ 2 แขวงทวีวัฒนา เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ 10170
โทรศัพท์ 0 2441 3593 E-Mail:satriwit3@gmail.com


Generated 0.067296 sec.