krusunsanee Article
หมวกหกใบ
Six Thinking Hats เขียนโดย Edward de Bono
อ่านและสรุปโดย ศันสนีย์ อรุณสินประเสริฐ
ในการดำเนินชีวิตของแต่ละบุคคลหรือการดำเนินงานของแต่ละองค์กร ล้วนมีเรื่องที่ต้องทำการแก้ปัญหาและตัดสินใจอยู่ตลอด ซึ่งในขณะที่เราทำการแก้ปัญหาและตัดสินใจสมองของเราอาจเต็มไปด้วย ข้อมูล อารมณ์ เหตุผล ความคิดสร้างสรรค์และสิ่งต่างๆ และหากเราไม่มีการจัดระบบความคิด สิ่งเหล่านี้ก็อาจส่งผลให้การแก้ปัญหาหรือการตัดสินใจไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ดังนั้นการจัดการระบบความคิดจึงเป็นสิ่งที่สำคัญและมีความจำเป็น Edward de Bono ได้ให้วิธีการ “Six Thinking Hats” เพื่อช่วยจัดระเบียบการคิด ทำให้การคิดมีประสิทธิภาพมากขึ้น และในปัจจุบันวิธีการดังกล่าวได้มีการนำไปใช้อย่างแพร่หลาย โดยหมวกแต่ละใบเป็นการนำเสนอทางเลือกที่เป็นไปได้ตามมุมมองต่างๆของปัญหา ด้วยการคิดแบบหมวกแต่ละใบในแต่ละครั้ง เพื่อที่การคิดจะได้มุ่งเน้นไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งโดยเฉพาะ ซึ่งจะทำให้ความเห็นและความคิดสามารถแสดงออกได้อย่างอิสระ สามารถหลีกเลี่ยงความขัดแย้งที่ไม่จำเป็นได้และยังเป็นการกระตุ้นให้แต่ละคนดึงศักยภาพที่มีอยู่ออกมาใช้อีกด้วย การคิดแบบหมวก 6 ใบ ช่วยให้สามารถแก้ปัญหาและตัดสินใจด้วยการคิดแต่ละด้านอย่างเป็นระบบ จากการจำแนกความคิดออกเป็น 6 ด้าน และคิดอย่างมีคุณภาพเพื่อช่วยจัดระเบียบการคิด ทำให้การคิดมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มทักษะการคิด ทำให้ไม่คิดข้ามไปข้ามมาหรือคิดพร้อมกันทุกอย่างในเวลาเดียวกันซึ่งทำให้เกิดความสับสน ใช้เวลานานและอาจหาข้อสรุปไม่ได้
เป้าหมายสำคัญของการคิดแบบหมวก 6 ใบ ก็คือทำให้การคิดง่ายขึ้น โดยให้ผู้คิดคิดแบบใดแบบหนึ่ง ในการคิดแต่ละครั้ง แทนที่จะต้องสนใจทั้งความรู้สึก เหตุผล ข้อมูล ความคิด ริเริ่มและสิ่งต่างๆพร้อมๆกันทีเดียว ผู้คิดสามารถที่จะจัดการแต่ละอย่างให้แยกออกจากกันแทนที่จะเอาเหตุผลไปสนับสนุนความรู้สึก ผู้คิดสามารถเอาความรู้สึกออกมาด้วยการคิดแบบหมวกสีแดงโดยไม่จำเป็นต้องหาเหตุผลมาสนับสนุน แล้วการคิดแบบหมวกสีดำจะเข้ามาในขั้นตอนของเหตุผลเอง
นอกจากนี้การคิดแบบหมวก 6 ใบ ยังมีเป้าหมายเพื่อให้มีการสับเปลี่ยนการคิดบ้าง บางคนในที่ประชุมอาจเป็นคนที่มีความคิดแง่ลบอยู่เสมอ คนๆนี้อาจถูกขอให้ถอดหมวกสีดำออกเพื่อที่จะลองสวมหมวกสีเหลืองดูบ้าง ขั้นตอนของการคิดแบบหมวก 6 ใบ ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวว่าต้องเริ่มคิดด้วยหมวกสีใดและจบลงด้วยหมวกสีใด แต่สามารถใช้การคิดด้วยหมวกสีใดก่อนก็ได้และยังสามารถใช้การคิดแบบหมวกสีต่างๆกี่ครั้งก็ได้ตามต้องการ สิ่งสำคัญคือการคิดให้ครบด้วยหมวกแต่ละสีเพื่อความสมบูรณ์ในการคิดรอบด้าน ความคิดในหมวกแต่ละใบกัน,มีดังนี้
หมวกสีขาว - หมวกสีแดง สีขาวเป็นสีที่ชี้ให้เห็นถึงความเป็นกลาง จึงเกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริง จำนวนตัวเลข เมื่อสวมหมวกสีนี้ หมายความว่าที่ประชุมต้องการข้อเท็จจริงหรือข้อมูลของสิ่งนั้นๆ เท่านั้น ไม่ต้องการความคิดเห็น ซึ่งเราสามารถนำวิธีคิดแบบหมวกสีขาวมาใช้การรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับปัญหา หลังจากที่ทำการบ่งชี้หรือระบุประเด็นของปัญหาแล้ว ส่วนสีแดงนั้นเป็นสีที่แสดงถึงอารมณ์และความรู้สึก เมื่อสวมหมวกสีนี้ เราสามารถบอกความรู้สึกของตนเองว่าชอบ ไม่ชอบ ดี ไม่ดี ซึ่งส่วนใหญ่การแสดงอารมณ์จะไม่มีเหตุผลประกอบ การคิดแบบหมวกสีแดงนี้สามารถนำมาใช้ในขั้นตอนการวิเคราะห์ทางเลือกในการแก้ปัญหาและตัดสินใจ และเมื่อถึงขั้นตอนที่เราต้องตัดสินใจเลือกทางเลือกเราก็ยังสามารถนำการคิดแบบหมวกสีแดงมาใช้ได้โดยการผสมผสานกับแนวทางการคิดของหมวกสีอื่นๆ
หมวกสีดำ - หมวกสีเหลือง สีดำเป็นสีที่แสดงถึงความโศกเศร้า และการปฏิเสธ เมื่อสวมหมวกสีนี้ ต้องพูดถึงจุดด้อย อุปสรรคโดยมีเหตุผลประกอบ ข้อที่ควรคำนึงถึง เช่น เราควรทำสิ่งนี้หรือไม่ ไม่ควรทำสิ่งนี้หรือไม่ เหมาะสมหรือไม่ ทำให้การคิดมีความรอบคอบมากขึ้น เราสามารถใช้วิธีคิดแบบหมวกสีดำในกระบวนการแก้ปัญหาและตัดสินใจ ได้ตั้งแต่การค้นหาปัญหาที่เกิดขึ้นในองค์กร และยังนำมาใช้ได้อีกในขั้นตอนของการวิเคราะห์ทางเลือก เพื่อที่จะตัดทางเลือกที่มีข้อด้อยออกไป ส่วนสีเหลือง คือสีของแสงแดด และความสว่างสดใส เมื่อสวมหมวกสีนี้ หมายถึง การคิดถึงจุดเด่น โอกาส สิ่งที่เป็นประโยชน์ เป็นข้อมูลในเชิงบวก เป็นการเปิดโอกาสให้แต่ละความคิด เราสามารถนำการคิดแบบหมวกสีเหลืองมาใช้ในขั้นตอนของการวิเคราะห์ทางเลือก แต่เป็นการนำมาใช้เพื่อหาข้อดีและประโยชน์ที่จะได้จากทางเลือกนั้น รวมถึงหาความเป็นไปได้ที่จะนำทางเลือกนั้นมาใช้ โดยการหาเหตุผลมาสนับสนุน การคิดแบบหมวกสีดำและหมวกสีเหลืองสามารถชี้จุดบกพร่องและหาโอกาสของทางเลือกได้ แต่การที่จะแก้ไขในจุดบกพร่องและหาทางใหม่ๆในการที่ใช้ประโยชน์จากโอกาสนั้นควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของการคิดแบบหมวกสีเขียว
หมวกสีเขียว - หมวกสีฟ้า สีเขียวเป็นสีที่แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ และการเจริญเติบโต เมื่อสวมหมวกสีนี้ จะแสดงความคิดใหม่ๆ เพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น การคิดอย่างสร้างสรรค์ สามารถนำมาใช้ในขั้นตอนของการหาทางเลือก เพื่อค้นหาหรือคิดสร้างสรรค์ทางเลือกใหม่ๆ ส่วนสีฟ้าเป็นสีที่ให้ความรู้สึกสงบ จะเป็นเหมือนท้องฟ้า หมวกสีฟ้านี้เกี่ยวกับการควบคุม การบริหารกระบวนการคิด หรือการจัดระเบียบการคิด ในกระบวนการแก้ปัญหาและตัดสินใจนั้นสามารถนำหมวกสีฟ้ามาใช้ได้ทั้งในช่วงเริ่มต้น ระหว่างกลาง และช่วงท้ายของกระบวนการฯ เพื่อกำหนดขอบเขตและประเด็น , รักษากฎระเบียบ ควบคุมบทบาทของผู้มีส่วนร่วมในกระบวนการฯ และควบคุมการดำเนินการในแต่ละขั้นตอน และในช่วงสุดท้ายของกระบวนการฯ การคิดแบบหมวกสีฟ้าจะทำหน้าที่ในการสรุปผล
วิธีการ “Six Thinking Hats” ได้จัดระบบให้คิดทีละด้าน มองทีละด้านเพื่อที่จะทำให้สามารถพิจารณาความคิดได้อย่างรอบคอบ ส่งผลให้เกิดความคิดที่มีประสิทธิภาพ การใช้วิธีคิดแบบหมวก 6 ใบจะช่วยให้ผู้คิดสามารถคิดอย่างเป็นระบบ มีขั้นตอนในการคิดอย่างสร้างสรรค์และสามารถแก้ไขปัญหาในสถานการณ์ต่างๆได้ง่ายขึ้นและรวดเร็วมากขึ้น ประโยชน์ของการคิดด้วยวิธีการ“Six Thinking Hats” จะช่วยให้ทุกคนอยากมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นทำให้มีการดึงศักยภาพของแต่ละคนออกมาใช้ นับเป็นแนวคิดและเทคนิคที่มีประโยชน์สำหรับการบริหารจัดการยุคใหม่ ที่ช่วยให้การแก้ปัญหามีคุณภาพ ประสิทธิภาพ และประสิทธิผล
หมวก 6 ใบคิด 6 แบบ แต่งโดย ดร.เอ็ดเวิร์ด เดอ โบโนแปลโดย สุดตระการ ธนโกเศศ พลอย จริยะเวช ดวงพร มาจำเนียร พินทุสร ติวุตานนท์ สาลินี หาญวารีวงศ์ศิลป์
รูปภาพที่เกี่ยวข้อง
Size : 11.58 KBs
Upload : 2012-11-13 05:16:16
ติชม
กำลังแสดงหน้า
1/0
<<
1
>>
ต้องการให้คะแนนบทความนี้่ ?
0
คะแนนโหวด
สร้างโดย :
krusunsanee
สถานะ : ผู้ใช้ลงทะเบียน
ภาษาไทย
โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สตรีวิทยา พุทธมณฑล
70 หมู่ 2 แขวงทวีวัฒนา เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ 10170
โทรศัพท์ 0 2441 3593 E-Mail:satriwit3@gmail.com
Generated 0.028523 sec.