Kitipong Article


หัวโขน
หัวโขน เป็นงานศิลปะชั้นสูง ใช้สำหรับสวมครอบศีรษะ ปิดบังส่วนหน้าของผู้แสดงโขนอย่างมิดชิด เป็นศิลปวัตถุประเภทประณีตศิลป์ และงานศิลปะที่ได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นอย่างวิจิตรตระการตาเช่นเดียวกับเครื่องแต่งกาย ประณีตบรรจงตามแบบช่างไทย มีรูปลักษณะสวยงาม ลักษณะคล้ายหน้ากาก แตกต่างตรงที่เป็นการสร้างจำลองรูปทรงใบหน้าและศีรษะทั้งหมด เจาะช่องเป็นรูกลมที่นัยน์ตาของหัวโขน ให้ตรงกับนัยน์ตาของผู้แสดงเพื่อการมองเห็น[1] แบ่งเป็น 2 ประเภทคือหัวโขนสำหรับใช้ในการแสดง หมายความถึงหัวโขนที่สื่อถึงตัวละครนั้น ๆ เช่น พระ ยักษ์ เทวดา วานรและสัตว์ต่าง ๆ สร้างขึ้นด้วยกรรมวิธีแบบโบราณ ตามเอกลักษณ์ของหัวโขนที่ถูกต้องและสมบูรณ์แบบของศิลปะไทย[2] และหัวโขนที่ใช้สำหรับเป็นของประดับตกแต่งหรือของที่ระลึก หมายความถึงหัวโขนที่ทำขึ้นโดยการหล่อ ปั้น ฉีดและขึ้นรูปด้วยพลาสติกหรือกรรมวิธีอื่น ๆ ลงรักปิดทอง ประดับกระจก
ประเภทหัวโขน

หัวโขนที่ใช้สำหรับแสดง แบ่งเป็นประเภทต่าง ๆ ตามลักษณะของตัวละครคือ หัวโขนพงศ์นารายณ์ ประกอบด้วยเผ่าพงศ์วงศ์กษัตริย์แห่งกรุงอโยธยา หัวโขนพรหมพงศ์และอสูรพงศ์ ประกอบด้วยพรหมผู้สร้างกรุงลงกาและอสูรพงศ์ในกรุงลงกา หัวโขนมเหศวรพงศ์ ประกอบด้วยพระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหมและเทวดาต่าง ๆ หัวโขนฤๅษี ประกอบด้วยฤๅษีผู้สร้างกรุงอโยธยา ฤๅษีที่พระราม พระลักษมณ์และนางสีดาพบเมื่อคราวเดินดง หัวโขนวานรพงศ์ ประกอบด้วยพญาวานร วานรสิบแปดมงกุฎ เสนาวานร วานรเตียวเพชร วานรจังเกียงและพลลิงหรือเขนลิงหัวโขนคนธรรพ์ ประกอบด้วยเทพคนธรรพ์และคนธรรพ์ หัวโขนพญาปักษา ประกอบด้วยพญาครุฑ พญาสัมพาที พญาสดายุ และหัวโขนแบบเบ็ดเตล็ด ประกอบด้วยหัวสัตว์ต่าง ๆ เป็นต้น และอาจแบ่งตามประเภทของหัวโขนที่ใช้สวมอย่างละ 2 ประเภทคือ ยักษ์ยอด ยักษ์โล้น ลิงยอดและลิงโล้น[4] นอกจากนี้ยังแบ่งตามชนิดของมงกุฎ ซึ่งมีลักษณะแตกต่างกันไป แบ่งเป็นฝ่ายลงกาคือ มงกุฎยอดกระหนก มงกุฎยอดจีบ มงกุฎยอดหางไก่ มงกุฎยอดน้ำเต้า มงกุฎยอดน้ำเต้ากลม มงกุฎยอดน้ำเต้าเฟื่อง มงกุฎยอดกาบไผ่ มงกุฎยอดสามกลีบ มงกุฎยอดหางไหล มงกุฎยอดนาคา มงกุฎตามหัวหรือหน้า พวกไม่มีมงกุฎ พวกหัวโล้น พวกหัวเขนยักษ์หรือพลทหารยักษ์และตัวตลกฝ่ายยักษ์ถึงแม้มีการบัญญัติและประดิษฐ์หัวโขนให้มีลักษณะที่แตกต่างกัน ยังคงมีหัวโขนบางประเภทที่มีมงกุฎยอดเหมือนกัน จึงมีการทำหน้าโขนให้ปากและตาแตกต่างกันไป แบ่งเป็น 4 ประเภทคือ ประเภทปากแสยะตาโพลง ประเภทปากแสยะตาจระเข้ ประเภทปากขบตาโพลง และประเภทปากขบตาจระเข้ เป็นต้น[5] ฝ่ายพลับพลาคือ มงกุฎยอดบัด มงกุฎยอดชัยหรือยอดแหลม มงกุฎยอดสามกลีบ พวกไม่มีมงกุฎแต่เป็นลิงพญามีฤทธิ์เดช พวกไม่มีมงกุฎแต่เรียกมงกุฎ พวกเตียวเพชร จังเกียง หัวลิงเขนหรือพลทหารลิงและหัวตลกฝ่ายลิง สำหรับพวกพญาวานรที่ไม่มีมงกุฎและพวกสิบแปดมงกุฎ มักนิยมเรียกรวมกันว่าลิงโล้น
จำแนกตามใบหน้า
การจำแนกตามใบหน้าของโขน เป็นการจำแนกหน้าของหัวโขนจำนวนมากออกจากกัน แบ่งเป็น 2 ประเภทได้แก่หน้ามนุษย์ หน้าเทวดาและหน้าอมนุษย์ ในส่วนของหน้ามนุษย์ฯ ช่างทำหัวโขนจะนิยมปั้นเค้าโครงหน้าให้มีลักษณะละม้ายคล้ายคลึงกับมนุษย์ มีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยตรงบริเวณหู ดวงตา จมูกและปาก ซึ่งจะปั้นออกมาเป็นลักษณะกลาง ๆ ไม่เหมือนกับรูปหน้าของหุ่นและมนุษย์จริงมากนัก ดังนั้นใบหน้าของหัวโขนประเภทหน้ามนุษย์ฯ จะมีเค้าโครงหน้าเหมือนกันทุกหัว นิยมเขียนระบายสีสันบนใบหน้าให้ยิ้มแย้มอยู่ในหน้าด้วยอารมณ์ร่าเริง วาดเส้นโค้งกลับขึ้นบริเวณส่วนปากกับไพรหนวด ดวงตาทั้งสองข้างโค้งงอนขึ้น สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนในหน้าของฤๅษี    สำหรับหน้าอมนุษย์ ส่วนใหญ่จะเป็นหน้ายักษ์ ปั้นเค้าโครงจากใบหน้ามนุษย์ทั่ว ๆ ไปเช่นเดียวกับหน้ามนุษย์ฯ ในการปั้นหัวโขนหน้าอมนุษย์นั้น ช่างทำหัวโขนจะต้องมีความชำนาญ ศึกษาเรียนรู้ภูมิหลังและประวัติความเป็นมาของตัวละครยักษ์แต่ละตัวอย่างละเอียด เพื่อให้สามารถปั้นหัวโขนให้มีลักษณะใกล้เคียงกับตัวละครมากที่สุดเช่น ทศกัณฐ์ซึ่งลักษณะนิสัยตามเนื้อเรื่องที่ดุร้าย โกรธง่าย มีสิบหน้าสิบมือและมีฤทธิ์มาก จึงเลือกเอาลักษณะความโหดร้าย หน้าตาถมึงทึงที่เป็นเอกลักษณ์มาใช้ นำมาเขียนสีและระบายสีสันเขียนลงบนใบหน้าของทศกัณฐ์ หรือพิเภกที่มีลักษณะนิสัยไม่ดุร้าย เป็นยักษ์ฝ่ายดี ไม่มีฤทธิ์เดชมาก การเขียนสีและระบายบนใบหน้าจึงแลดูไม่ดุร้ายมากนัก
จำแนกตามสีหน้า สีกาย มงกุฎและอาวุธ

การจำแนกหัวโขนตามสีของสีกายและใบหน้า เป็นการแก้ปัญหาของช่างทำหัวโขน เพื่อให้สามารถรู้ถึงชื่อ รูปแบบและเครื่องประดับของหัวโขนแต่ละตัวที่มีเป็นจำนวนมาก ด้วยการเขียนระบายสีพื้นลงบนส่วนใบหน้าของหัวโขนเพื่อให้แยกแยะได้ง่ายขึ้นเช่น พญาวานรที่สวมมงกุฎยอดเหมือนกัน แต่แตกต่างกันเพียงสีของใบหน้าเช่น พญาวานรที่สวมมงกุฏยอดบัด ถ้าใบหน้าสีเขียวสดคือพาลี แต่ถ้าเป็นสีขาบคือท้าวมหาชมพู หรือสีแดงชาดคือสุครีพ เป็นต้น สำหรับสีที่ใช้ระบายสีหน้าของหัวโขนเช่นสีดำ สีเหลือง สีขาว สีแดงและสีครามหรือเรียกว่าสีเบญจรงค์ ในการระบายสีนั้น เป็นทักษะความรู้และความสามารถเฉพาะตัวของช่างทำหัวโขนแต่ละคน ซึ่งมักหวงแหนวิชาความรู้และเก็บเป็นความลับ ไม่ยอมถ่ายทอดวิชาให้แก่ผู้อื่นนอกจากลูกศิษย์เท่านั้น ซึ่งสีต่าง ๆ ที่นิยมใช้ระบายลงบนพื้นใบหน้าของหัวโขนแต่ละตัว มีดังนี้[8]

  • สีแดง ได้แก่สีแดง สีแดงชาด สีแดงเสน สีดินแดง สีลิ้นจี่ สีหงสบาท สีหงดิน สีหงชาด สีหงเสน
  • สีแสด ได้แก่สีดอกชบา สีฟ้าแลบ
  • สีเหลือง ได้แก่สีเหลืองรง สีเหลืองดิน สีเหลืองอ่อน สีเหลืองเทา สีเลื่อมเหลือง สีเลื่อมประภัสสร สีจันทร์
  • สีคราม ได้แก่สีคราม สีขาบ สีคราอ่อน สีดอกตะแบก สีมอคราม
  • สีน้ำตาล ได้แก่สีน้ำรัก สีผ่านแดง
  • สีม่วง ได้แก่สีม่วง สีบัวโรย สีม่วงแก่ สีม่วงอ่อน
  • สีเขียว ได้แก่สีเขียว สีก้ามปู สีน้ำไหล สีเขียวใบแค สีเขียวตังแช
  • สีดำ ได้แก่สีดำ สีดำหมึก สีผ่านหมึก สีมอหมึก
  • สีเทา ได้แก่สีเทา สีผ่านขาว สีเมฆ

นอกจากการจำแนกหัวโขนตามสีของใบหน้าแล้ว ช่างทำหัวโขนยังมีวิธีจำแนกหัวโขนตามแต่ประเภทของมงกุฏยอด ซึ่งมีจำนวนมากกว่าร้อยหัว ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะให้แตกต่างกันออกไปอีกด้วย ซึ่งแม้จะมีการแยกประเภทของมงกุฏยอดให้แตกต่างกันแล้ว ก็ยังมีบางพวกที่มีสีของกาย ใบหน้าและมงกุฎที่สีซ้ำกัน แต่แตกต่างเพียงอาวุธเช่น ยักษํกายสีม่วงแก่ สวมมงกุฎยอดกระหนก ถือหอกเป็นอาวุธคือพญาทูษณ์ แต่ถ้ากายสีม่วงแก่ สวมมงกุฎยอดกระหนกแต่ถือกระบองเป็นอาวุธคือขุนประหัสต์ วานรกายสีขาวปากอ้า ถือตรีคือหนุมาน แต่ถ้าปากหุบ ถือพระขรรค์คือสัตพลี วานรกายสีดำปากหุบคือพิมลพานร แต่ถ้าปากอ้าคือนิลพัท เป็นต้น ช่างทำหัวโขนจึงต้องกำหนดให้หัวโขน มีลักษณะเฉพาะแตกต่างกันออกไปตามรูปลักษณ์ของหัวโขน เช่น มงกุฏฝ่ายลงกา มีประเภทของสีกายและมงกุฏ

มงกุฎยอดกระหนก
  • ท้าวกุเรปัน กายสีม่วงอ่อน ถือกระบองเป็นอาวุธ
  • ตรีปักกัน กายสีเขียว ถือศรเป็นอาวุธ
  • พญาทูษณ์หรือทูต กายสีม่วงแก่ ขี่ม้าผ่านดำเป็นพาหนะ
  • ประหัสต์ กายสีม่วงแก่ ถือกระบองเป็นอาวุธ
  • มัยราพณ์ กายสีม่วงอ่อน ถือกล้องเป่ายาคล้ายพลองยาวเป็นอาวุธ
  • ท้าวไวยตาล กายสีครามอ่อน ถือกระบองตาลเป็นอาวุธ
  • แสงอาทิตย์ กายสีแดงชาด
  • พญาหิรันต์ยักษ์ กายสีทอง
  • อนุราช กายสีจันทร์อ่อน
มงกุฎยอดจีบ
  • กุมภัณฑ์นุราช กายสีแดงเสน ถือคทาเป็นอาวุธ มีนาคเป็นสังวาลคล้องคอ
  • พญาขร กายสีเขียว ถือศรจักรพาฬพัง
  • ปทูตันหรือปทูตทันต์ กายสีหงดิน
  • ท้าวสัตลุง กายสีหงชาด ขัดคทา ถือศรเป็นอาวุธ
  • ท้าวสัทธาสูร กายสีหงเสน ขัดคทา ถือศรเป็นอาวุธ
  • เหรันต์ทูต กายสีม่วงอ่อน
มงกุฎยอดหางไก่
  • จักรวรรดิ กายสีขาว มีสี่หน้า
  • บรรลัยจักร กายสีม่วงอ่อน ถือศรเหราพตเป็นอาวุธ
  • ท้าวมหายมยักษ์ กายสีแดงชาด
  • มารัน กายสีทองหรือสีเหลือง
  • วิรุญจำบัง กายสีมอหมึก
มงกุฏยอดน้ำเต้า
  • กุมภากาศ กายสีหงดิน
  • ชิวหา กายสีหงชาด
  • พิเภก กายสีเขียว
  • วายุภักษ์ กายสีเขียว ยอดมงกุฏมีกาบรับบัวแวง
มงกุฎยอดน้ำเต้ากลม
  • กุมพล กายสีเขียว
  • กุเวรนุราช กายสีขาว ขัดคทา ถือศรเป็นอาวุธ
  • ตรีปุรัม กายสีดำหมึก ถือกระบองเป็นอาวุธ
  • นนยุพักตร์ กายสีเขียว
  • เปาวนาสูร กายสีขาว
  • พัทกาวี กายสีเหลือง
  • ไพจิตราสูร กายสีขาวหรือสีเขียว
มงกุฏยอดน้ำเต้าเฟือง
  • บรรลัยกัลป์ กายสีแดงหรือสีเหลืองอ่อน ขัดคทา ถือศรเป็นอาวุธ
  • ท้าวลัสเตียน กายสีขาว มงกุฎของท้าวลัสเตียนเป็นน้ำเต้าเฟืองปลายสะบัด
  • ไวยวิกหรือวันยุวิก กายสีม่วงแก่
มงกุฎยอดกาบไผ่
  • ทศคีรีวัน กายสีเขียว
  • ทศคีรีธร กายสีหงดิน
  • ปโรต กายสีม่วงแก่
  • รามสูร กายสีเขียว
มงกุฏยอดสามกลีบ
  • ทัพนาสูร กายสีหงดิน ถือศรเป็นอาวุธ
  • สวาหุ กายสีเขียวหรือสีหงดิน ถือกระบองเป็นอาวุธ
  • มารีศ กายสีขาว ถือกระบองเป็นอาวุธ
มงกุฏประเภทเดียวกับอินทรชิต
  • อินทรชิต กายสีเขียว ถือศรเป็นอาวุธ
  • สุริยาภพ กายสีแดง ถือหอกเมฆพัทเป็นอาวุธ
  • ไพนาสุริยวงศ์หรือทศพิน กายสีเขียว ขี่ม้าผ่านแดงเป็นพาหนะ
  • วิรุณพัท กายสีเขียว


ขอขอบคุณ  วิกิพีเดีย  สารานุกรมเสรี

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

Size : 45.94 KBs
Upload : 2011-10-07 13:31:13

Size : 67.46 KBs
Upload : 2011-10-07 14:27:19

Size : 62.23 KBs
Upload : 2011-10-07 14:30:27

Size : 95.41 KBs
Upload : 2011-10-07 14:31:21
ติชม

กำลังแสดงหน้า 1/0
<<
1
>>

ต้องการให้คะแนนบทความนี้่ ?

0
คะแนนโหวด
สร้างโดย :


Kitipong
รายละเอียด Share
สถานะ : ผู้ใช้ลงทะเบียน
ศิลปะ


โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สตรีวิทยา พุทธมณฑล
70 หมู่ 2 แขวงทวีวัฒนา เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ 10170
โทรศัพท์ 0 2441 3593 E-Mail:satriwit3@gmail.com


Generated 0.814622 sec.